วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การเบิกค่าที่พักในการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรม




เจ้าของความรู้ นางสุมิตรา
  ละออไขชื่อความรู้ การเบิกค่าที่พักในการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรม
ตำแหน่ง/สังกัด  จพง.การเงินและบัญชีชำนาญงาน  ศูนย์ศึกษาฯ สระบุรี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ได้พักโรงแรมตามที่ผู้จัดประสานไว้ให้  เบิกค่าที่พักได้หรือไม่
เรื่องเล่า....
            1.ส่วนนำ (เหตุการณ์นั้นมีความเป็นมาอย่างไร).
มีเจ้าหน้าที่สอบถามว่า  กรณีมีการฝึกอบรม และผู้จัดประสานโรงแรมที่พักให้ แต่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ได้พักโรงแรมตามที่ผู้ประสานไว้ให้  โดยไปพักที่โรงแรมอื่น สามารถเบิกค่าที่พักได้หรือไม่ และจะเบิกแบบเหมาจ่ายได้หรือไม่
2.กระบวนการ/วิธีการ/เทคนิค/ข้อพึงระวังที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางาน....
             ข้าพเจ้า  ได้ศึกษา โดยใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
            1. พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2556
             2. พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2548
            3. พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่8) พ.ศ. 2553
และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554   
จากระเบียบต่าง ๆ ข้างต้น  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องพักในโรงแรมที่ผู้จัดประสานไว้ให้เท่านั้น  ยกเว้น ในกรณีที่โรงแรมที่ผู้จัดประสานไว้นั้นเต็ม โดยผู้จัดต้องรับรองไว้ในใบเสร็จค่าที่พักของโรงแรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมไปพัก ว่า  โรงแรมที่ผู้จัดประสานไว้นั้นเต็ม   จึงจะเบิกจ่ายได้ และ การเดินทางไปฝึกอบรม สัมมนา จะเบิกค่าที่พักเหมาจ่ายไม่ได้  ต้องเบิกค่าที่พักจ่ายจริงเท่านั้น  ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ  (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555
ข้อพึงระวัง ก่อนจะไปรับการฝึกอบรมควรศึกษารายละเอียดของโครงการว่า ได้จัดเตรียมที่พักไว้ให้หรือไม่ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามระเบียบได้อย่างถูกต้อง
            3.ผลของการแก้ไขปัญหา/พัฒนา...
            เจ้าหน้าที่เข้าใจระเบียบ   และสามารถเบิกค่าที่พักได้อย่างถูกต้อง
            4.ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์
             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี  ต.ทับกวาง  อ.แก่งคอย จ.สระบุรี    โทร.  0-3635-7321


            

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการถ่ายภาพด้วยมือถือสมาร์ทโฟน

เจ้าของความรู้  นายเดชฤทธิ์ วงษ์ภูธร
ตำแหน่ง/สังกัด  เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาปฏิบัติงาน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  ต้องการถ่ายภาพเพื่อนำเสนอในงานพัฒนาชุมชน
เรื่องเล่า
                    1.  ความเป็นมา
  ปัจจุบันมือถือ Smart Phone เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมาก ก็เพราะว่า
Smart Phone มีความสามารถในการทำงาน ช่วยให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายในการทำงาน หรือบางคนก็ใช้ Smart Phone ในการถ่ายภาพเพื่อต้องการเก็บภาพไว้ หรือถ่ายรูปตัวเอง และยังมีการถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้งานอื่นๆ เช่นการนำไปเสนอผลงาน ในการนี้ขอเสนอ เทคนิคการถ่ายภาพด้วย Smart Phone ให้ได้ภาพที่ต้องการ โดยการนำเสนอเป็นเทคนิคเพื่อการถ่ายภาพให้ได้ภาพ
                    2. เทคนิคการถ่ายภาพด้วยมือถือสมาร์ทโฟน
          1.ช่วงเวลานาทีทอง บางคนพยายามจะถ่ายภาพช่วงกลางวันที่แดดจัดๆ และเกิดความสงสัยมาตลอดว่า ทำไมภาพที่ถ่ายออกมาดูแข็งๆ แสงไม่สวยเลย ดูภาพไม่มีชีวิตชีวา ให้ลองเปลี่ยนเวลาถ่ายรูปโดยไปถ่ายช่วงเวลาก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน หรือที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกว่าตอนเย็นนั่นแหละ ถ้าเป็นในประเทศไทยก็คือราว ๆ
5 โมงเย็น ช่วงเวลานี้ ถ้าเป็นวันที่มีแดด แสงแดดจะนุ่มเนียนตามากกว่าเวลาอื่นๆ และเมื่อเราถ่ายรูปออกมา ภาพจะออกโทนเหลืองๆ แดงๆ คอนทราสของภาพก็จะสวยงามลงตัว   เราเรียกเวลาช่วงนี้ว่า เวลาทอง Golden moment
          2.
ถ่ายช่วงทไวไลท์  ทไวไลท์คืออะไร ? มันคือช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตก หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซักพักนึง ถ้าเป็นในประเทศไทย ก็อยู่ที่ราว 15-20 นาทีหลังจากพระอาทิตย์ตกนั่นเอง เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเราดูรูปของช่างภาพอาชีพหลายคน ท้องฟ้าในรูปมันเป็นสีฟ้า น้ำเงินสดใส แต่รูปของเราท้องฟ้ากลับดำมืด ทั้งๆ ที่เป็นกลางคืนเหมือนกัน คำตอบคือ เพราะเขาถ่ายในช่วงทไวไลท์นี่แหละ ในช่วงเวลาดังกล่าวสมดุลระหว่างแสงบนท้องฟ้าและแสงไฟในเมืองจะพอดี ทำให้เป็นช่วงที่ถ่ายได้สีสันสวยงามมากที่สุดของวัน ซึ่งช่วงดีที่สุดของทไวไลท์นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของเมืองนั้นๆด้วย ฉะนั้นถ้าอยากถ่ายไฟเมืองแบบสวย ๆ ลองรอหลังพระอาทิตย์ตกดู พอเมืองเริ่มเปิดไฟก็ลองถ่ายดูเลย รับรองว่าได้ภาพน่าประทับใจแน่นอน โดยเฉพาะมือถือรุ่นใหม่ๆ ก็มักจะถ่ายในที่มืดได้ดีขึ้นมากด้วย
           3. หาเนื้อหาเด่นของภาพ บางทีเราเห็นวิวที่สวยงามและยิ่งใหญ่ก็อยากจะเก็บภาพไปเสียทั้งหมด แต่พอถ่ายภาพออกมากลับดูไม่เหมือนที่เห็นด้วยตาเปล่า ภาพดูว่าง ๆ โล่ง ๆ ไม่น่าสนใจเอาเสียเลยฉะนั้นแทนที่เราจะถ่ายแบบจะเก็บทุกอย่าง เราก็เปลี่ยนมาหาจุดเด่นในภาพดีกว่า นอกจากจะทำให้ภาพดูน่าสนใจแล้ว ยังสามารถบ่งบอกสถานที่ที่เราไปเยือนได้ดีกว่าอีกด้วย  และถ้ากล้องมือถือมีปัญหาเรื่องการซูมเข้าไปหาเป้าหมาย เราก็ใช้วิธี CROP ภาพทีหลังก็ได้ เพราะกล้องเดี๋ยวนี้ความละเอียดค่อนข้างสูงมากทีเดียว เช่น GALAXY S6 ที่ 16  ล้าน  หรือ IPHONE6 ที่ 8 ล้าน ถึงถ่ายมาแล้ว crop ก็ยังละเอียดพอจะลงได้สบายๆ
           4. เก็บเรื่องราว บางครั้งภาพที่ดูธรรมดาๆ แต่พอมีคนมาเดินในภาพ กลับทำให้ภาพเกิดเรื่องราวขึ้นมาได้ ทั้งจาก การแต่งกาย ท่าทาง หรือสายตาของคนเหล่านั้น ลองพยายามรวมคนหรือสัตว์เข้ามาในภาพดู และพยายามจัดให้คนหรือสัตว์นั้นเป็นจุดสนใจของภาพ จะทำให้ภาพน่าสนใจมากขึ้นเยอะเลย น่าดีใจที่การเก็บภาพคนและสัตว์ด้วยมือถือนั้นดูเป็นมิตรมากกว่าการแบกกล้องใหญ่ๆ เข้าไปถ่าย แต่กระนั้นก็ตาม การถ่ายภาพบุคคลแบบใกล้ชิดและดูจงใจก็ควรจะขออนุญาตแบบก่อนทุกครั้ง
          5.
มือต้องนิ่ง ปัญหาหลักเลยที่ทำให้ภาพดูไม่น่าประทับใจคือ มือเราดันไม่นิ่ง ยิ่งบางคนไม่ถนัดกับการถ่ายด้วยมือถือเอาซะเลย เพราะมันเล็กเกินไป ฉะนั้น เราต้องมาฝึกถ่ายให้มือนิ่งกัน โดยเริ่มจากลองกลั้นหายใจตอนจะกดถ่ายดูก่อน เพราะส่วนใหญ่จะนิ่งขึ้นพอสมควร หรือหากเป็นช่วงเย็นที่แสงไม่พอ ลองหาพื้นหรือผนังที่แข็งแรง แล้วเอามือถือไปพิงแล้วค่อยถ่าย จะลดอาการสั่นได้ดีทีเดียว หรือหากถึงที่สุดจริง ๆ ให้ใช้ขาตั้งเล็กๆ และตั้งเวลาถ่ายเอา คราวนี้ยังไงก็นิ่งแน่นอน
          6.
ฝึกจัดองค์ประกอบแบบง่ายๆไม่ต้องเป็นมืออาชีพก็จัดองค์ประกอบแบบง่ายๆได้ โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือกฎ 3 ส่วน แบ่งภาพออกเป็นตาราง โดยใช้เส้นแนวตั้งหรือนอน 3 เส้น  และพยายามจัดองค์ประกอบให้อยู่ในเส้นเหล่านี้ ซึ่งพอเราใช้ทั้งเส้นแนวนอนและตั้งตีลงไปในรูป จะเกิดจุดตัดขึ้นมา เราเรียกว่าจุดตัดเก้าช่อง เราก็พยายามจุดสำคัญของภาพอยู่ที่จุดตัดทั้ง ก็จะทำให้ภาพสวยขึ้นง่ายๆ
***แต่ กฎนี้ก็ไม่ได้ตายตัว เราสามารถหาวิธีอื่นๆ ที่ทำให้องค์ประกอบดูดีขึ้นมาได้อีกมากมาย แต่สำหรับผู้เริ่มต้นควรยึดหลักการนี้ไว้ก็จะช่วยเป็นการง่ายมากกว่า
              7. พื้นอย่าเอียง เวลาที่เรามองภาพเราแล้วรู้สึกแปลกๆ ชอบกล ให้ดูก่อนเลยเป็นอันดับแรกว่าภาพตรงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจกันเท่าไหร่เรื่องภาพเอียง เวลาถ่ายออกมาก็ไม่ได้ดูตรงนี้มากนัก แต่จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึกของภาพทีเดียว ฉะนั้นพยายามถ่ายออกมาให้ภาพตรง พื้นตรง จะทำให้ภาพดูดีขึ้นมามากเลยเชียว
          8. ใช้ APP แน่นอนถ้าใช้มือถือถ่าย การใช้ APP ก็เข้ามาช่วยได้อย่างง่ายดาย โดยการปรับหลาย ๆ อย่างที่เราว่ามาข้างต้น เช่น การจัดองค์ประกอบ  การแก้พื้นเอียง หรือปรับแสงสีเล็กน้อย ก็สามารถทำได้ใน APP นี่แหละ และเราขอแนะนำ SNAPSEED APP ที่ใช้งานง่ายและฟรี สามารถปรับแต่งได้ค่อนข้างหลากหลาย ควรเก็บไว้ประจำเครื่องเลย
           9. เรียนรู้มือถือตัวเองให้หมดทุกด้าน นักดาบที่ดีควรจะรู้จักดาบของตัวเองทุกซอกมุม ถ้าจะถ่ายภาพด้วยมือถือเราก็ต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะความละเอียดเท่าไหร่ ถ่ายแบบไหนได้บ้าง ซูมแล้วภาพแตกไหม ถ่ายในที่มืดดีหรือเปล่า  สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งข้อจำกัด และตัวสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพได้เสมอ ฉะนั้น ศึกษาอาวุธคู่กายของเราให้ดี และอย่าลืม ทำความสะอาดเลนส์บ่อย ๆ ด้วยล่ะ เพราะบางคนถ่ายภาพออกมามัวตั้งเป็นปี แล้วนึกว่าเป็นที่กล้อง แต่ที่แท้ เลนส์มีรอยนิ้วมือนี่เอง

4. ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี โทรศัพท์ 0-3635-7321 

การบริหารงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ


เจ้าของความรู้  นางสาวปติมา  ประสานศิลป์
ตำแหน่ง/สังกัด  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การจัดงานสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน
เรื่องเล่า
 กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดให้มีการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปีทุก ๆ ปี  และนโยบายของอธิบดีได้กำหนดให้เลือกวัดในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน  ในปี พ.ศ.2558  ได้กำหนดถวายผ้าองค์พระกฐินพระราชทาน ณ วัดเขาแก้ววรวิหาร  อำเภอเสาไห้  จังหวัดสระบุรี  และกำหนดจัดงานสมโภชน์องค์พระกฐินพระราชทาน  ณ  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ในวันที่  19  พฤศจิกายน  2558
ในการจัดงานดังกล่าว  กรมการพัฒนาชุมชนโดยสำนักงานเลขานุการกรม  ได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรีจัดกิจกรรมเพื่อสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน  3  กิจกรรม  คือ การจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมจังหวัดสระบุรีกับทีมจากกรมการพัฒนาชุมชน  การจัดพิธีสงฆ์สมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน  และการจัดงานเลี้ยงภาคค่ำ ตลอดจนจัดที่พักรับรองเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่มาจากพื้นที่อื่น ปัญหาที่พบ  คือ  1. ไม่มีผู้ใดในศูนย์ที่เคยเข้าร่วมการจัดพิธีสงฆ์สมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน  2. งบประมาณในการจัดงานค่อนข้างจำกัด  3. ขาดผู้บริหารสูงสุด
จากปัญหาที่กล่าวมาได้วางแผนการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้  ดังนี้
1. กำหนดงานที่ต้องทำให้ชัดเจนในที่นี้ คือ การจัดกิจกรรมเพื่อสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน  3 กิจกรรม ซึ่งเป็นภารงานที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรีได้รับมอบหมาย
2. ศึกษารายละเอียดงาน/พิธีกรรม  ที่เกี่ยวข้องจากเอกสาร  ผู้มีประสบการณ์/ผู้ชำนาญงาน 
3. แบ่งงานเป็นกิจกรรมย่อยๆ  จัดทำแผนในแต่ละกิจกรรม  โดยต้องกำหนดรายละเอียดของงาน  ขั้นตอนที่ต้องทำรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้ชัดเจน 
4. ถ่ายทอดสู่ผู้เกี่ยวข้องคือทีมงานของศูนย์ให้รับรู้และเข้าใจตรงกัน และปฏิบัติงานร่วมกัน
5. แบ่งงานมอบหมายงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล   ระบุเวลาแล้วเสร็จหรือเวลาที่ต้องใช้งาน
6. ในส่วนของงบประมาณ  แสวงหาผู้สนับสนุนบริจาควัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการจัดงาน  โดยการประสานหน่วยงานข้างเคียง  เครือข่าย  ภาคเอกชน  ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
7. หลังจากเสร็จงาน  ตอบแทนผู้ปฏิบัติงานด้วยการทำอาหารทานเลี้ยงร่วมกัน  และทำหนังสือขอบคุณ  ผู้มีอุปการคุณ

จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้การจัดงานสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน  สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและได้รับคำชมเชยจากผู้บริหารส่วนกลาง   ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้งานประสบความสำเร็จคือ  การทำงานต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนตรงกัน  รับฟังความคิดเห็นและวางแผนการทำงานร่วมกัน  สร้างความตระหนักให้ทุกคนได้รับรู้และมีส่วนในการที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ  และการให้รางวัลตอบแทนคนทำงาน  

การบริหารโครงการ


เจ้าของความรู้  นางสาวนิตยา  เกษตร์ภิบาล
ตำแหน่ง/สังกัด  นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การลืมหรือข้ามขั้นตอนการดำเนินโครงการ
เรื่องเล่า 
1.     ความเป็นมา
                   การดำเนินโครงการต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในบางครั้งก็อาจหลงลืมบางอย่าง เช่น ลืมทำคำสั่งผู้รับผิดชอบ ลืมถ่ายสำเนาแจ้งผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ ทำให้ต้องเร่งรีบดำเนินการแก้ไข
2.     กระบวนการ/วิธีการ/เทคนิค/ข้อพึงระวัง
กระบวนการ/วิธีการ
เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการ
บริหารจัดการ โดยการกำหนดเป็นกระบวนงานในขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนมอบหมายผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อให้  การดำเนินงานเป็นไปตามกำหนดและครบถ้วน ดังนี้
1)     ก่อนดำเนินการฝึกอบรม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเนื่องจากต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม
ก่อนดำเนินการ จึงควรกำหนดเวลาแล้วเสร็จในแต่ละกิจกรรมก่อนการดำเนินโครงการเพื่อให้มีเวลาปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่มีข้อผิดพลาด
-          จัดทำโครงการฯ/ประมาณการงบประมาณ/รายการวัสดุที่ต้องใช้ (จำนวน 3 ชุด)/ทำบันทึกขออนุมัติโครงการ/ขออนุมัติดำเนินโครงการ (จำนวน 2 ชุด)/ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินโครงการ (จำนวน 3 ชุด) (เมื่อผู้บริหารลงนามแล้ว ให้นำไปออกเลขที่โครงการฯ เลขที่บันทึกฯ และเลขที่คำสั่ง จากนั้นถ่ายสำเนาบันทึกและโครงการฯ ให้ฝ่ายอำนวยการ เพื่อนำไปตั้งเรื่องเกี่ยวกับการเงินและการพัสดุต่อไป)
-          จัดทำกระบวนงานและมอบหมายผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน/ประชุมชี้แจง (โดยถ่ายสำเนาหรือแจ้งให้ทุกคนทราบผ่านระบบ OA)
-          ทำหนังสือประสานจังหวัด (ควรทำหนังสือประสานจังหวัดล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้จังหวัดมีเวลาในการประสานพื้นที่)
-          ประสานวิทยากร (ในกรณีที่ต้องเชิญวิทยากรภายนอก โดยต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา)
-          จัดทำเอกสารประกอบ (ถ้ามี) โดยรวบรวม/เรียบเรียง เนื้อหาวิชาที่จะจัดทำเอกสารประกอบการ
อบรมให้ครบถ้วนและตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งพิมพ์/ถ่ายเอกสาร
-          จัดทำคำกล่าวรายงาน/คำกล่าวเปิดและปิดการอบรม
-          จัดพิมพ์ป้ายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ/ป้ายชื่อวิทยากร/ป้ายโครงการ
-          ทำตารางการจัดสถานที่และการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เป็นรายวิชา (โดยถ่ายสำเนาหรือแจ้งผ่านระบบ OA ให้ผู้รับผิดชอบอาคารสถานที่ทราบ)
-          จัดเตรียมเอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (แบบรายงานตัว แบบประวัติ แบบประเมิน แบบรับค่า
พาหนะ หลักฐานทางการเงิน ใบประกาศ ฯลฯ)
-          จัดทำ/ปรับปรุงบอร์ดประชาสัมพันธ์ที่อาคารบรรยาย
-          เตรียมอุปกรณ์/โสตทัศนูปกรณ์/ระบบ IT (ทำรายการอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละรายวิชาเพื่อตรวจสอบความครบถ้วน)
-          เตรียมทีมอำนวยการ/ยานพาหนะ/ยาสามัญ
-          ประสานผู้ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม
* ให้จัดทำตารางตรวจสอบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนด้วยเพื่อป้องกันการ
หลงลืมในแต่ละขั้นตอน
2)     ระหว่างดำเนินการฝึกอบรม
-          จัดทำทะเบียนประวัติผู้เข้ารับการอบรม โดยต้องตรวจสอบความถูกต้องโดยให้ผู้เข้าอบรมตรวจสอบรายละเอียดของตัวเองก่อน ก่อนส่งไปให้ฝ่ายการเงินทำค่าพาหนะ/ฝ่ายทำวุฒิบัตร/ ฝ่ายทำทะเบียน (ตามที่มอบหมาย)
-          จัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ที่จะใช้แต่ละวิชาก่อนถึงช่วงการบรรยาย
-          ต้อนรับ/ส่งวิทยากร รวมถึงมอบค่าตอบแทนวิทยากร อำนวยความสะดวกระหว่างการอบรม โดยคอยดูว่าวิทยากรต้องการอะไรเพิ่มเติม หรือต้องใช้อะไรในช่วงไหนบ้าง
-          จดบันทึกรายวิชา (อย่าลืมเก็บฟลิปชาร์ทที่เกี่ยวข้อง)
-          แจกแบบประเมินพร้อมทั้งอธิบายแบบก่อนทำการประเมิน
-          มอบค่าพาหนะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
3)     หลังดำเนินการฝึกอบรม
-          สรุปผลการประเมิน/รายงานผลเบื้องต้น
-          รวบรวมแบบประเมิน/Keyข้อมูล/วิเคราะห์ข้อมูล
-          จัดทำเอกสารสรุปผล โดยรวบรวมผลการสรุปเนื้อหารายวิชา/ผลการแบ่งกลุ่มย่อย นำมา
เรียบเรียง/จัดพิมพ์ สรุปผลการดำเนินงานเป็นรูปเล่ม/ส่งพิมพ์ให้ทันตามกำหนด (ก่อนส่งพิมพ์ควรส่งไฟล์ให้ผู้รับผิดชอบรายวิชาตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง)
-          รายงานผลผ่านระบบ BPM (ให้รายงานหลังจากเสร็จสิ้นโครงการทันที โดยงานวิชาการรายงานด้านผลการดำเนินงาน/การเงินรายงานเรื่องการเบิกจ่าย)
-          รายงานผู้บริหารและจัดส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง
เทคนิค
-          การมอบหมายผู้รับผิดชอบ ให้มอบหมายตามบทบาทหน้าที่ และความถนัดของแต่ละบุคคล
ข้อพึงระวัง 
-          ก่อนดำเนินการต้องจัดประชุมชี้แจงหน้าที่ความรับผิดชอบทุกครั้ง และต้องนัดหมายกำหนด
ดำเนินการและการส่งงานให้ชัดเจน โดยจัดทำตารางตรวจสอบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนติดตาม/สนับสนุนการดำเนินงานเป็นระยะ ว่ากระบวนงานใดที่ดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือ   ยังไม่ดำเนินการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าทำตามกระบวนงานครบหรือยัง
                   -    ในกรณีที่เชิญวิทยากรภายนอก ต้องขอสำเนาบัตรฯ เพื่อแนบหลักฐานการเบิกจ่ายด้วย
                   -    ในกรณีที่ส่งเอกสารให้โรงพิมพ์ ต้องให้โรงพิมพ์ส่งมาให้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนสั่งพิมพ์
3. ผลของการแก้ปัญหา สามารถลดข้อผิดพลาดในการดำเนินโครงการ ตามกระบวนงานและขั้นตอน
การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    4. ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 18260 โทร 036-357321         

การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร

 
นางสาวสรินยา ลูกรัก
นักทรัพยากรบุคคล ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
 
ในการจัดอบรมของทุก ๆ หลักสูตรของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ได้จัดให้มีกิจกรรม เทิดทูนสถาบันตอนเช้าของการอบรมวันที่สอง และวันที่สาม ก่อนเริ่มวิชาหลัก โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามัคคี และความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากประเทศของเราเพิ่งผ่านช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาไม่นาน การจัดกิจกรรมจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ
ปัญหา
          ปัญหาแรก คือ ตัวผู้นำกิจกรรมหรือวิทยากรกระบวนการยังไม่มีแรงบันดาลใจในการนำกิจกรรมและยังมีความเข้าใจในเนื้อหาไม่มากพอ
          ปัญหาที่สอง คือ จะออกแบบกิจกรรมอย่างไรจึงจะน่าสนใจและเหมาะสม
การหาแรงบันดาลใจ  
          การสร้างแรงบันดาลใจในการนำกิจกรรม เริ่มจากหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือที่ในหลาย ๆ แง่มุม การดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วตั้งคำถาม ถามตัวเองว่า ต้องการนำเสนออะไร เพื่ออะไร
          และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความ
เชื่อในเรื่องที่เราจะนำเสนอจนรู้สึกอยากถ่ายทอด ให้คนอื่นได้รับรู้

ออกแบบกิจกรรม
          เมื่อได้แรงบันดาลใจแล้ว วิธีการนำเสนอก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อหา และความพร้อมของตัววิทยากรกระบวนการ ซึ่งแต่ละคนจะมี ทางถนัดของตัวเองแตกต่างกัน
          สำหรับตัวเองเลือกใช้กระบวนการทางสุนทรียสนทนามาเป็นเครื่องมือในการนำกิจกรรม เพราะเห็นว่ากระบวนการทางสุนทรียสนทนานั้นสามารถทำให้ผู้อบรมมีสมาธิ ผ่อนคลาย อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างมีสติ และลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อผู้เข้าอบรมเปิดใจในการรับรู้แล้วจะใช้การตั้งคำถามเพื่อนำความเชื่อมโยงจากตัวผู้อบรมออกมาสัมพันธ์กับคลิปวีดีโอที่เตรียมไว้
          เมื่อดูคลิปวีดีโอจบ ก็จะชวนให้ผู้เข้าอบรมร่วมแสดงความรู้สึก และความคิดเห็น
ข้อควรระวัง
          การเลือกคลิปวิดีโอต้องใช้คลิปที่เป็นกลาง ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อความรู้สึกของผู้เข้าอบรมไม่ว่า ผู้เข้าอบรมจะมีความเชื่อแบบใดก็ตาม และการให้ผู้เข้าอบรมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ต้องควบคุมเวลาให้ดีเพื่อไม่ให้กระทบกับวิทยากรท่านอื่น ขณะที่ผู้เข้าอบรมแสดงความคิดเห็น ต้องให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นที่ได้ยิน
สรุป
          การสร้างแรงบันดาลใจ และการออกแบบกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เปรียบได้กับการทำงานโดยยึดหลักอิทธิบาท 4  ซึ่งประกอบด้วย
1.      ฉันทะ (รัก หรือ Passion) คือ ความต้องการจะทำ รักที่จะทำ
2.      วิริยะ (ขยัน หรือ Determination) คือ ความขยัน ไม่ท้อถอย
3.      จิตตะ (ตั้งใจ หรือ Concentration) คือ จิตมุ่งมั่นที่จะทำ
4.      วิมังสา (ไตร่ตรอง หรือ Evaluation) คือ ใช้ปัญญาไตร่ตรอง พัฒนา
ถ้าวิทยากรกระบวนการใช้หลักการเหล่านี้เป็นแนวในการทำงาน ก็จะสามารถทำงานด้วยความสนุก มีความสุข และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

         
นางสาวสรินยา ลูกรัก
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 18260 

การทำงานให้มีความสุข


เจ้าของความรู้ชื่อ                   นางบังอร  พรปัญญาวัฒน
ตำแหน่ง                                 เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน           
สังกัด                                      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
วันที่บันทึกความรู้                  10  มีนาคม 2559
               
วัตถุประสงค์ของความรู้             เพื่อเป็นแนวคิดในการทำงานให้มีความสุข
กระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีปฏิบัติ
     ในปัจุบัน สังคมเปลี่ยนไป ความคิดเห็นแตกต่างกันไป
มีการแข่งขันกันมากขึ้น  ทำให้แนวคิดไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ  ในการทำงาน  เพื่อให้ได้
งานของตนบรรลุวัตถุประสงค์    โดยไม่คำนึง ถึงความสุข ความสนุกในการทำงานที่ทำ  จากประสบการณ์จึงพอสรุปขั้นตอนและวิธีการทำงานให้มีความสุข ได้ดังนี้
     1. ทำจิตใจให้สบาย  ปล่อยวางเรื่องอื่นๆ   และใจต้องจดจ่อ  มุ่งมั่น กับงานที่จะทำ    
    2. ต้องทำความเข้าใจ วิเคราะห์งาน นั้น ๆ และจับประเด็นงานให้ถูกต้อง
    3. จัดระเบียบ วางแผนการทำงาน  ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจที่มีงานล้นมือ  เพราะยังไงๆ สุดท้ายก็ต้องทำให้สำเร็จ
    4. มองโลกในแง่ดี  ให้เราคิดว่า เรามีงานทำดีกว่าเราไม่มีงานอะไรทำเลย
    5. สุดท้ายให้รางวัลตัวเองบ้างเมื่อทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว  อาจไปเดินห้างสรรพสินค้า หาอะไรอร่อยๆ ทานบ้าง
เท่านี้เราก็มีความสุขในการทำงานแล้ว

ข้อแนะนำ/ข้อพึงระวัง
-  ควรรักษาสุขภาพใจ สุขภาพกาย  ให้ดี เพราะเมื่อสุขภาพดีแล้ว ทำให้ไม่มีอุปสรรคในการทำงาน

ชื่อความรู้ วิธีการต้มน้ำสมุนไพร (น้ำฝาง)


เจ้าของความรู้  นางสุทธิรัตน์ พวงมาลัย
ตำแหน่ง/สังกัด  พนักงานทั่วไป ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต ด้วยน้ำสมุนไพร ที่ไม่ต้องพึ่งยาปฎิชีวนะ
เรื่องเล่า
1.  ความเป็นมา
ฤดูกาลไหน หากรู้สึกอ่อนเพลีย ท้องไส้ไม่ปกติ ได้ดื่มน้ำฝาง เย็นๆสักแก้วคงดี น้ำฝางเสน เป็นน้ำสมุนไพร  สีชมพูอมม่วงสดใส รสหวานหอม ช่วยดับกระหายและบำรุงโลหิต บางคนอาจจะไม่คุ้นกับน้ำสมุนไพรชนิดนี้นัก แต่หากบอกว่า เจ้าแก่นไม้สมุนไพรที่ชื่อฝางนี้ ก็คือสิ่งที่นำมาปรุงเป็นน้ำยาสีแดงๆ หยอดผสมน้ำดื่ม เพื่อความชื่นใจ หรือที่เรียกกันว่า น้ำยาอุทัย นั่นเอง มีช่วงหนึ่งที่วัยรุ่นฮิตๆ เอาน้ำยาอุทัยมาทาแก้ม ทาปาก ดูสวยงามเปล่งปลั่ง แถมประหยัดอีกต่างหาก ฝางสามารถหาซื้อได้จากร้านขายเครื่องยาสมุนไพรไทยทั่วไป ใช้เพียงเล็กน้อย นำมาใส่ลงในน้ำหม้อใหญ่และใส่น้ำตาลทรายเล็กน้อยพอหวานแปล่มๆ ก็พอค่ะ จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
 2.เทคนิควิธีการทำน้ำสมุนไพรฝาง
        ส่วนผสม แก่นไม้ฝาง น้ำตาลทราย น้ำสะอาด ใบเตยหอมหรือน้ำลอยดอกไม้หรือน้ำหอมกลิ่นมะลิ (เล็กน้อย) 
           วิธีทำ
           1.เตรียมแก่นไม้ฝางใส่ตะแกรงล้างโดยให้น้ำไหลผ่านสักครู่ แล้วพักไว้ 
           2.นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟ ใส่แก่นไม้ฝางลงต้มเคี่ยวไปจนได้น้ำสีชมพูอมม่วงพอหอมจึงลงยกลงจากเตากรองเอากากออก ทิ้งไว้ให้เย็น
 
           3.ทำน้ำเชื่อมโดยนำน้ำใส่หม้อตั้งไฟ ใส่น้ำตาล คนให้ละลาย พอเดือดจึงยกลง พักไว้
 
           4.ผสมน้ำแก่นฝาง น้ำเชื่อม ชิมรสหวานตามใจชอบ และใส่น้ำใบเตยลงไปเล็กน้อย เสิร์ฟพร้อมน้ำแข็ง
 3.ข้อพึงระวัง
             ให้ระมัดระวังในคนท้อง เพราะในยาแผนไทยใช้ฝางเป็นส่วนประกอบของยาขับประจำเดือนและมีรายงานการวิจัยว่ามีฤทธิ์เป็นยับยั้งการแข็งตัวของเลือด
4.ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี โทรศัพท์ 0-3635-7321


ชื่อความรู้ วิธีการทำน้ำเต้าหู้


เจ้าของความรู้  นายณัทวลินทร์ ทองพลอย
ตำแหน่ง/สังกัด  พนักงานรักษาความปลอดภัย
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
การทำน้ำเต้าหู้ เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ และเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในการขาย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และน้ำเต้าหู้ก็เป็นสินค้าบริโภคที่คนชอบทานในตอนเช้า เหมาะสำหรับคนที่ทำงานรีบเร่งในช่วงเช้า หาซื้อขายทานง่าย
แก่นความรู้ ส่วนผสมในการทำน้ำเต้าหู้
1.แช่ถั่วเหลืองทิ้งไว้ 3 ชม.
2.ล้างถั่วด้วยน้ำให้สะอาด
3.ใช้เครื่องปั่นปั่นผสมกับน้ำสะอาด และนำมาต้มโดยเติมเกลือเล็กน้อย

ข้อเสนอแนะ/ข้อพึงระวัง
          1.อย่าแช่ถั่วเหลืองนานเกิน 3 ชมม.
          2.ควรล้างถั่วให้สะอาด ด้วยน้ำสะอาดหลายๆรอบ
          3.ใช้น้ำใบเตยเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มความหอมจากกลิ่นใบเตย
          4.ในการต้มถั่วเหลืองควรจะต้องเฝ้าตลอดเวลาจนกว่าจะเดือด


ชื่อความรู้ วิธีการทำไข่เค็มดินสอพองลพบุรี


เจ้าของความรู้  นายธวัฒน์ วงษ์เวช
ตำแหน่ง/สังกัด  พนักงานรักษาความปลอดภัย
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
การทำไข่เค็มดินสอพองลพบุรี เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ และเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และไข่ก็เป็นสินค้าบริโภคที่ครัวเรือนใช้ประกอบอาหารเป็นประจำ และวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการแปรรูปอาหารจากไข่ ก็คือการทำไข่เค็มดินสอพองลพบุรี
แก่นความรู้ ส่วนผสมในการทำไข่เค็ม
1.ไข่เป็ด 50 ฟอง
2.เกลือป่น 300 กรัม
3ดินสอพอง 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 1 ลิตร

ข้อเสนอแนะ/ข้อพึงระวัง
          1.ล้างไข่ให้สะอาดหรือเช็ดด้วยผ้าให้สะอาด
          2.ต้มด้วยน้ำเกลือให้เกลือละลาย
          3.ควรใช้ดินสอพองพอกไข่ให้หนาบางเสมอกัน
          4.ต้มน้ำเกลือผสมกับดินสอพองทิ้งไว้ให้เย็นหรือแห้ง จะได้ไข่เค็มที่อร่อย